Sunday, November 20, 2011

สิ่งที่ได้จากช่วงน้ำท่วม

น้ำท่วมคราวนี้ทำให้ได้ความรู้ DIY เพิ่มมาบ้างพอสมควร ขอจดไว้หน่อยกันลืม

ประปา 
  • สงสัยมานานแล้วว่าท่อ PVC มันต่อเชื่อมยังไง ได้รู้สักทีว่ามันเชื่อมกันด้วยกาว ให้หาซื้อกาวทาท่อ (ในเน็ตชอบแนะนำ ยี่ห้อ ท่อน้ำไทย) มาทาท่อ PVC ตรงจุดที่จะเชื่อมกัน กดแน่นๆ รอแค่ 1 นาทีท่อก็จะติดกันแน่นพอสมควร ตามสูตรควรรอสัก 1 วันค่อยใช้ แต่มีคนบอกว่าช่างประปาบางคนรอแค่ 10 นาทีก็ใช้แล้ว
  • ท่อ PVC จะออกแบบมาให้เชื่อมกันได้อยู่แล้ว ถ้าท่อขนาดที่เข้ากันได้ ภายในจะมีขยักนิดหน่อยที่ไว้ให้เสียบท่อได้พอดี
  • ระบบประปาในบ้าน น้ำทิ้งจะทิ้งออกไปที่ท่อระบายน้ำ มันเรียกว่าท่อระบายน้ำแต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นท่อๆแฮะ แต่เป็นเหมือนโพรงสี่เหลี่ยมเท่านั้นเอง อย่างที่บ้านจะมีท่อระบายน้ำรอบบ้าน (ไม่ดีในแง่กันน้ำท่วม เพราะรูเยอะมาก) แต่ปลายท่อจะเชื่อมออกไปที่โพรงท่อระบายน้ำใหญ่ของซอย (จริงๆแล้วกันแค่ตรงนี้ได้ก็กันได้ทั้งบ้าน อาจยกเว้นสวนถ้าต่อถึงดินโดยตรง) 
  • ท่อระบายน้ำในบ้าน จะต่อ PVC ไปแล้วปลายก็ไปทิ้งที่ท่อระบายน้ำใกล้ๆบ้าน กรณีของที่บ้าน เจอปลายท่อระบายน้ำทั้งหมด 3 จุดพอดี และ test แล้วพบว่าท่อบนพื้นมันออกท่อเดียวกันหมด ทำให้สามารถกันน้ำท่วมได้ง่ายๆ โดยเอา จุกปิด PVC แบบเกลียวนอก + เชื่อมท่อ PVC ด้วยกาว ไปเสียบปิดไว้ ถ้าเกิดน้ำจะท่วมก็เอาจุกปิดมาขันปิดเอา น่าจะเวิร์คกว่าไปปิดในบ้านแบบที่เขาชอบทำกันอีก เพราะเปิดปิดได้ และแรงดันน้ำน่าจะดันให้จุกปิดยิ่งแน่นกว่าเดิม (ไม่ได้ทดสอบ เพราะยังไม่ท่วม)
  • ถังส้วมใต้ดิน ก็มีท่อประปาตรงช่วงบนของถัง (!?) เพื่อระบายของเหลวจากส้วมออกมา (กากตกลงล่าง ซึมออกหรือไม่ซึมขึ้นกับประเภทถัง ถ้าแบบไม่ซึมก็ต้องเอารถสูบมาสูบเป็นระยะๆ) ส่วนที่ล้นออกมามันก็ลงท่อระบายน้ำนี่แหละ เพราะงั้นตามหลักการปิดปลายท่อนี้ได้ก็ป้องกันปัญหาน้ำล้นจากส้วมได้ (แต่เผอิญหาไม่เจอ)
  • ถ้าเอาท่อกันกลิ่น (แบบใต้ซิ้งค์ครัว หรืออ่างล้างหน้าในห้องน้ำ) ไปเสียบตรงปลายท่อระบายน้ำ น่าจะกันแมลงสาบได้แบบถาวรเพราะมันจะต้องว่ายน้ำเข้ามา แต่คงมีผลทำให้ท่อระบายน้ำระบายได้ช้าลง ไว้คงให้ช่างมาทำดีกว่า ทำเองเดี๋ยวเละ ไม่ค่อยถูกกับงานประปา
  • ไดรโว่สูบน้ำมีทั้งแบบดูดโคลนได้และดูดได้แต่น้ำ การใช้งานมันออกแบบมาให้จมน้ำลงไปเลยซัก 10-15cm แล้วห้อยปลั๊กไว้ด้านบน โดยเอาเชือกมาผูกหย่อนอีกที แต่เอามาใช้กับน้ำท่วมคงไม่ขนาดนั้น แค่เสียบปลั๊กก็ใช้งานได้ ท่อน้ำใช้ท่ออ่อนเป็นผ้าๆมาพันๆเอาได้ง่ายๆ
  • เครื่องกรองน้ำ ต้องเปลี่ยนไส้กรองทุก 2 ปี เปลี่ยนไส้คาร์บอนกับเรซิ่นทุก 1 ปี ล้างทุก 2-3 เดือน ส่วนไส้กรองก็ล้างเมื่อเริ่มตันด้วยน้ำ
ไฟฟ้า
  • แม้ว่าจะมีการแยกแผงวงจรไฟล่าง-บน แต่ถ้าน้ำท่วมเข้าแผงไฟหลักก็ซวยอยู่ดี กรณีที่บ้านจุดต่ำสุดอยู่แค่ 80-90 cm จากพื้น กันยากโคตร ทำให้รู้ว่าแยกแผงไฟหลัก ล่าง บน หรือไม่ก็เอาไปไว้ข้างบนทั้งหมดจะดีที่สุด (สายไปแล้ว)
  • ปิดแผงปลั๊ก/โทรศัพท์/ทีวี แกะฝามันออกมา ใช้ฟอยล์ห่ออาหารมาปิดหลายๆชั้น อาจจะปิดสก็อตเทปไปด้วยก็ได้ แล้ว เอาซิลิโคนยิงรอบๆ อันนี้ยังไม่ได้ทดสอบจริง แต่โดยหลักการน่าจะพอช่วยแก้ปัญหาสายไฟชื้นได้ (ไม่ได้แก้เรื่องน้ำเข้า แค่ไม่อยากให้ระบบไฟเสียหาย)
  • อย่าลืมดูมิเตอร์ไฟนอกบ้าน การไฟฟ้าบางทีชอบติดไม่สูงเพราะไม่ต้องปีนดู ปรากฏว่าไม่ถึงเมตร ก็มี
ก่อสร้างทั่วไป
  • (ไม่ได้ทดสอบ) สำหรับการอุดรูไม่พึงประสงค์แบบถาวร ดูเหมือนการใช้ Bosney ซึ่งเป็นกาวอุดรูรั่วกระเบื้องและปูน จะง่ายสุด เพราะไม่ต้องผสมปูน แกะมาทาๆได้เลย แห้งช้าแต่พอแห้งแล้วแข็งมากแบบปูนเลย ลองคร่าวๆแล้วน้ำไม่รั่ว ถ้าพื้นผิวใหญ่อาจต้องอุดรูด้วยอะไรสักอย่างก่อนทาเพราะกาวเหลวต้องมีพื้นผิวให้เกาะ (ตอนทำแบบด่วนๆ เอาทิชชู่ยัด เพราะได้ยินว่าช่างบางคนเอาทิชชู่ยัดก่อนยาซิลิโคน)
  • ซิลิโคน จริงๆแล้วมีหลายแบบ อคริลิค ซิลิโคน อะไรพวกนี้ เหมือนว่าซิลิโคนจะดีสุด มีทั้งเกรดถูก กับแพง (อย่างแพงมียี่ห้อ SONY ด้วย) มีหลายสี เวลาใช้ให้ใส่ในปืนยิง ตัดปลายออก แล้วกดๆเข้าไป พอยิงเสร็จให้คลายล็อกตรงปลายตัวดันไม่งั้นมันจะดันให้ไหลไม่หยุด เวลาใช้เสร็จ ถ้ามีอะไรอุดปลายได้ก็ดี ส่วนหัวท่อซิลิโคน พบว่า ไม่ต้องทำความสะอาดจะดีที่สุด ลองเอาไปล้างแล้วเหนียวหนึบล้างยากมากๆ แต่ถ้าปล่อยจนมันแห้งไปเลย ก็ดึงเศษออกมาได้ง่ายๆเลย กลายเป็นแท่งยางใหญ่ๆ
  • เครื่องแอร์นอกบ้าน (คอยล์ร้อน คอมเพรสเซอร์ แล้วแต่จะเรียก) ไม่หนักอย่างที่คิด ตอนนี้ใช้วิธีแขวนผนังสูงกว่าพื้น 1 เมตรไปหมดแล้ว ในการย้ายตำแหน่งทุกครั้งจะต้องไล่น้ำยาแอร์ออกหมดเสียเงินมากพอสมควร
  • ผ้าใบหาง่ายมากพอสมควร เมื่อเทียบกับกระสอบทราย
  • เวลาซื้อของที่มีห่อกันกระแทก เก็บๆไว้บ้างก็ดีเอามาใช้ได้ในยามนี้